หลวงพ่อเพ็ชร์ วัดตะคร้อเก่า

คุณสมบัติสินค้า:

SKU :

Share

รูปเหมือน หลวงพ่อเพ็ชร์ สติสมฺปญฺโน รุ่นแรก ( รุ่นเพ็ชร์มงคล ) “เนื้อสำริด 9 นิ้ว
ชุดกรรมการใหญ่ สร้าง 39 ชุด หมายเลข ๒๑ และ ๓๒”









วัตถุประสงค์
เพื่อสมทบทุนจัดสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ วัดตะคร้อเก่า อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จ
พิธีพุทธาภิเษกใหญ่ อธิฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว โดย หลวงพ่อเพ็ชร์ สติสมฺปญฺโน วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม 2557 ณ อุโบสถชั่วคราว วัดตะคร้อเก่า อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

...ชนวนมวลสาร รุ่น “เพ็ชร์มงคล” ได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ ท้าวมหาพรหม สมปรารถนา และหลวงพ่อเพ็ชร์ได้อธิฐานจิตให้อีกวาระ เป็นปฐมฤกษ์ ก่อนมอบให้คณะผู้จัดสร้างนำไปหลอมสร้างวัตถุมงคล 

หลวงพ่อเพ็ชร์ สติสมฺปญฺโน เพ็ชร์แท้แห่งโนนไทย ผู้สืบสายวิชามโนมยิทธิ จาก หลวงพ่อฤาษีลิงดำ 
(คำว่า "เพ็ชร์" เป็นคำไทยที่เขียนตามแบบแผนสมัยโบราณ หมายถึง อัญมณีที่มีค่าสูง มีสีใสบริสุทธิ์ และมีความแข็งเป็นเลิศ ซึ่งในปัจจุบัน เขียนแทนด้วยคำว่า "เพชร")

หลวงพ่อเพ็ชร์ สติสมฺปญฺโน เกิดเมื่อวันศุกร์ ขี้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ปีพ.ศ. ๒๔๗๗ ที่บ้านตะคร้อ ตำบลด่านจาก อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา  ในวัยเยาว์ ท่านได้เรียนจบศึกษาวิชาการถึงระดับชั้น ป.๔ ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นมีความรู้สูง ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๗ ปี โดยมี พระครูลุย เจ้าอาวาสวัดโนนพุทรา อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะเป็นสามเณร ท่านได้เดินทางไปฝากตัวรับใช้ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ที่วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ได้ร่ำเรียนกรรมฐาน และวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น จากหลวงพ่อฤาษีลิงดำ และได้ศึกษาพระอภิธรรมบาลีจนสอบได้ นักธรรมตรี เมื่อท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้กลับมาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดตะคร้อ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พระครูอนุทัยคณานุยุทธ เจ้าคณะอำเภอโนนไทย ในขณะนั้น เป็น พระอุปัชฌาจารย์ และสอบได้ นักธรรมโท ในพรรษาที่ ๓ 

หลวงพ่อเพ็ชร์มีความสนใจในการศึกษาวิชาวิทยาคม จากเกจิครูบาอาจารย์ชื่อดังทั้งหลาย ท่าน จึงได้ธุดงค์จาริก ไปยังที่ต่างๆ เพื่อศึกษาร่ำเรียนสรรพวิชา อาทิ อาจารย์ โส ชาวเขมรซึ่งเป็นอาจารย์คนเดียวกันกับหลวงปู่สรวงเทวดาเล่นดิน สมัยที่ท่านอยู่ในเขมรหลายสิบปี ในอดีตยังได้เคยศึกษาเล่าเรียนกับหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ อีกหลายปี จนช่ำชองวิชาอาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลูกศิษย์ท่านใดได้ให้ท่านเป่ากระหม่อมให้ รับรองได้ กลับไปเจริญๆทุกคน ท่านบอก เอาน่า!วิชาด้านเมตตามหานิยมกับวิชาแคล้วคลาดบังตาของข้า ไม่เป็นรองใครละกัน สมัยอยู่เขมร พวกทหารเขมรแดงที่มันไล่จับชาวบ้านเอาไปฆ่าทิ้งที่ๆเขาเรียกกันว่าทุ่งสังหาร พวกเอ็งเคยได้ยินหรือป่าว ศพกองเป็นภูเขาเลากา เดินกราดกระสุนเข้ามาหาข้ากับพวกชาวบ้านที่ข้าเป่ากระหม่อมให้ พวกทหารมันเดินเข้ามาคุยด้วยดีไม่มีทีท่าว่าจะเอาไปฆ่าเลย กลับผ่านไปเฉยๆ ทั้งๆที่พวกชาวบ้านก็นั่งสั่นกันอยู่ตรงลานดินนั่นแหละ วิชาเมตตาทำให้ทหารเขมรแดงใจอ่อนกระมัง …ครูบาอาจารย์ข้าเก่ง ข้าก็เลยได้บุญบารมีไปด้วย หลวงตาเพชรกล่าวอย่างถ่อมตน 

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ หลวงพ่อเพ็ชร์ อายุได้ราว ๕๓ ปี หลังจากธุดงค์จาริกไปหลายแห่ง ท่านได้กลับไปรับใช้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ที่วัดท่าซุง อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ ท่านได้ศึกษาร่ำเรียนกรรมฐานขั้นสูง และวิชามโนมยิทธิ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการฝึกฝนตามสายของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านได้ศึกษาตามแนวทางนี้อย่างมุ่งมั่น เป็นเวลากว่า ๖ ปี จนหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มรณะภาพ ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ เมื่อสิ้นอาจารย์แล้ว หลวงพ่อเพ็ชร์จึงได้ดำริจะกลับมาพำนัก ยังบ้านเกิด ท่านจึงได้กลับมา จำพรรษา ณ วัดตะคร้อ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลังจากกลับมายังบ้านเกิด ได้ ๕ ปี ด้วยวัตรปฏิบัติที่ท่านนิยมการธุดงค์เป็นนิจ ท่านจึงได้จาริกธุดงค์ มายังพื้นที่ วัดตะคร้อเก่า ในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพเป็นวัดร้างเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง มีตำนานบันทึกไว้ว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้ เป็นหมู่บ้านโบราณ สาเหตุที่หมู่บ้านแห่งนี้รกร้างไปเนื่องจากโดนโรคห่าระบาด ทำให้ชาวบ้านล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็ย้ายหนีออกจากพื้นที่ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ณ บริเวณที่เป็นบ้านตะคร้อในปัจจุบัน เมื่อหลวงพ่อเพ็ชร์ มาปักกลดธุดงค์ ณ ที่ ซากวัดร้าง แห่งนี้ คืนนั้นเองท่านได้นิมิต เห็นแสงสว่าง ปรากฏอยู่ ห่างออกไปไม่ไกล เมื่อไปดูจึงพบพระพุทธรูปสลักจากแก่นไม้จันทน์ ทรงโบราณวางอยู่ คะเนจากพุทธลักษณ์แล้วมีอายุหลายร้อยปี (ปัจจุบันพระพุทธรูปโบราณองค์นี้เก็บรักษาอยู่ในที่ปลอดภัย) เช้าวันถัดมาเมื่อไปสำรวจบริเวณโดยรอบที่ท่านพบพระพุทธรูปไม้จันทน์เรืองแสง ท่านจึงพบเห็น หลักพัทธสีมาเดิม เป็นใบเสมาทำด้วยไม้เก่าแก่ ซ่อนอยู่ในพงหญ้ารกสูง ได้เห็นเช่นนั้นหลวงพ่อเพ็ชร์ จึงทราบด้วยญาณว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่นั้นคงดลบันดาลให้หลวงพ่อได้เห็นซึ่งนิมิตดังกล่าว   ท่านจึงตั้งใจว่าจะพัฒนาพื้นที่รกร้างแห่งนี้ให้กลายเป็นวัดอีกครั้งหนึ่ง และให้ชื่อว่า วัดตะคร้อเก่า จวบจนปัจจุบัน นับเป็นเวลาสิบกว่าปีที่หลวงพ่อเพ็ชร์ได้บุกเบิกพื้นที่แห่งนี้จนพัฒนาขึ้น โดยเป็นที่ประจักษ์และเลื่องลือกันว่า หากผู้ใดประสบเคราะห์กรรมเลวร้าย ชีวิตตกต่ำ หรือเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้ ก็มักจะมาให้หลวงพ่อเพ็ชร์ช่วยแก้ไขให้ ซึ่งท่านก็ได้ใช้วิชาตามแนวทางมโนมยิทธิ แก้ไขให้จนกลับฟื้นดีขึ้นเป็นที่กล่าวขาน แม้กระทั่งศิลปินผู้มีชื่อเสียง ข้าราชการทหาร นักการเมืองท้องถิ่น ต่างก็เคย เข้ามาให้หลวงพ่อแก้ไขปัดเป่าเคราะห์กรรม ยกชีวิตให้ดีขึ้นมาแล้ว ทำให้หลวงพ่อเพ็ชร์ กลายเป็นศูนย์รวมจิดใจของชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด ส่งผลให้วัดร้างเดิมนั้น ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่ภิกษุจำพรรษาได้อย่างเป็นทางการ จากสำนักงานพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้