หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

คุณสมบัติสินค้า:

SKU :

โชว์พระ

หมวดหมู่ : โชว์พระ

Share

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ 



หน้าตัก 9 นิ้ว ทองเหลืองรมดำ
วัดศรีชมภูองค์ตื้อ
ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 8 บ้านน้ำโมง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคายสังกัดมหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1212 อาณาเขตทิศเหนือประมาณ 220 เมตร จดที่มีการครอบครอง, ทิศใต้ประมาณ 210 เมตร จดทางสาธารณประโยชน์, ทิศตะวันออกประมาณ 140 เมตร จดห้วยโมง, ทิศตะวันตกประมาณ 121 เมตร จดทางสาธารณประโยชน์, อาคารเสนาสนะประกอบด้วยพระอุโบสถ, พระวิหาร, ศาลาการเปรียญ, กุฏิสงฆ์ 9 หลัง, ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์นามพระเจ้าองค์ตื้อ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร พระเจ้าองค์ตื้อน้อยประดิษฐานในพระอุโบสถ เจดีย์นกยูง เจดีย์ดอกบัว

 

 
         วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ตามหลักศิลาจารึกว่าสร้างเมื่อ 2105 พร้อมกับพระเจ้าองค์ตื้อ พระไชยเชษฐาผู้ครองนครเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง นามเดิม วัดโกสีย์ แต่ชาวบ้านเรียกวัดองค์ตื้อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2105 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 7 เมตร ยาว 13 เมตร การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ
รูปที่ 1.พระอธิการก้อน
รูปที่ 2. พระอธิการทา
รูปที่ 3. พระอธิการกึ้น
รูปที่ 4. พระอธิการอยู่
รูปที่ 5. พระอธิการคำผา ปญญาวุฑฺโฒ
รูปที่ 6. พระครูพุทธพงษ์บริรักษ์
รูปที่ 7.พระครูสังวรกัลยาณวัตร

 

 
         หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่สร้างขึ้นด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือศิลปกรรมล้านนาผสมล้านช้าง ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร 29 เซนติเมตร สูง 4 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิปาฎิหาริย์ และเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชน โดยทั่วไปในประเทศและต่างประเทศ เมื่อถึงประเพณีสมโภชพระเจ้าองค์ตื้อของทุกๆปี ในวันขึ้น 11 ค่ำไปจนถึงแรม 1 ค่ำเดือน 4 โดยจะมีการเวียนเทียนรอบวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ชาวบ้านนิยมเรียกว่าบุญเดือน 4 หรือบุญเผวส และมีอีกงานวันสงกรานต์จะมีผู้คนจากทั่วสาระทิศหลั่งไหลมาในงานอย่างมากมายขนาดเนื้อที่วัด 11 ไร่กว่ายังเต็มไปด้วยผู้คน เวลาเดินต้องไหลเหมือนกระแสน้ำไม่ใช่บริเวณวัดเท่านั้นหน้าวัดหรือถนนทางเข้าจากถนนใหญ่ก็ เต็มไปด้วยผู้คนยิ่งในคืนวันขึ้น 15 ค่ำและในตอนเช้าวันแรม 1 ค่ำ จะมีการจุดบั้งไฟบูชาพระเจ้าองค์ตื้อ

         ผู้คนไม่ทราบว่ามาจากไหนเต็มไปหมดทุกตารางนิ้วสำหรับผู้คนที่จะเข้าไปนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อนั้นจะต้องใช้เวลาเดินเข้าไปถึง 20-25 นาทีจากที่จอดไม่ถึง 100 เมตร ประการสำคัญที่ผู้คนส่วนมากไปรวมกันในวันนั้นเพราะต่างคนก็มีหน้าที่การงานอยู่คนละทิศทางหรือทำงานอยู่ต่างจังหวัดเมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมบ้าน วันเทศกาลต่างๆก็เลยถือโอกาสเข้าไปนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเพื่อบนบานศาลกล่าวกับหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น ให้สำเร็จผลตามความปรารถนาทุกอย่างตามแต่จะปรารถนาของแต่ละคนและบางคนก็ครบกำหนดที่ได้บนบานไว้เข้าไปแก้บน และจะมีผู้เฒ่าผู้แก่คอยแนะนำพร้อมพระสงฆ์อยู่ในพระวิหารตลอดเวลาไม่เฉพาะวันสำคัญวันธรรมดาก็อยู่เป็นประจำเพราะผู้คนเข้าไปนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้ออยู่ตลอดเวลา

         หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปเก่าสร้างมาประมาณกว่า 447 ปี และเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ในจังหวัดหนองคายที่เป็นเนื้อสัมฤทธิ์เก่าแต่ถ้าจะเทียบกับพระพุทธรูปของสำนักศาลาแก้วกู่แล้วก็ถือได้ว่าใหญ่สู้ของศาลาแก้วกู่ไม่ได้แต่ของทางสำนักศาลาแก้วกู่เป็นพระสร้างใหม่ หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อประดิษฐานอยู่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ณ วิหารใหญ่ บ้านน้ำโมง หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เนื้อที่บริเวณวัดจำนวน 11 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ภายในวัดมีวิหารใหญ่ที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ มีพระอุโบสถ มีศาลาการเปรียญนั้นเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2534 ใช้เวลาสร้าง 3 ปีจึงแล้วเสร็จในปี 2537
และภายในวัดยังมีเจดีย์ดอกบัว เจดีย์นกยูง และกุฎิสำหรับพระอยู่ 2 หลัง วัดศรีชมภูองค์ตื้ออยู่ห่างจากอำเภอท่าบ่อประมาณ 1.5 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 44 กิโลเมตร ถ้าท่านมุ่งหน้าไปจังหวัดเลยตามเส้นทาง หนองคาย-ศรีเชียงใหม่-สังคม หรือท่านใดที่มุ่งหน้าไปนมัสการเพื่อคารวะหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แห่งวัดหินหมากเป้งก็จะสามารถมองเห็นพระวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อได้เลย

พระพุทธรูปองค์นี้ได้สร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์เป็นพระพุทธรูปงดงามน่าเลื่อมใส เดิมสร้างใน พ.ศ. ใดไม่เป็นที่แน่นอน แต่สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชผู้ครองนครเวียงจันทน์ ตามคำบอกเล่าว่าคณะสงฆ์และชาวบ้านในละแวกนั้นได้ประชุมหารือกันลงมติว่าจะหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเพื่อประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้หรือที่บ้านน้ำโมง (เดิมเรียกว่าบ้านน้ำโหม่ง) เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแก่อนุชนคนรุ่นหลังต่อไป เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้ชักชวนชาวพุทธศาสนา และประชาชนทั้งหลายเพื่อเรี่ยไรทองคำ ทองเหลือง ทองแดง เงิน และสิ่งของมีค่าตามแต่ผู้มีจิตศรัทธาจากท้องที่ต่างๆ บ้านใกล้เคียงเมืองต่างๆ ที่รู้จักกันก็ส่งข่าวต่อๆกันไป  เพื่อที่ให้ได้ทองและโลหะตามจำนวนหนักหนึ่งตื้อตามมาตราโบราณภาคอีสานถือว่า 10 ชั่งเป็นหมื่น, 10 หมื่นเป็นแสน, 10 แสนเป็นล้าน 10 ล้านเป็นโกฎิ, 10 โกฎิเป็นหนึ่งกือ, 10 กือเป็นหนึ่งตื้อ, เมื่อได้ทองมาครบแล้วพระสงฆ์และชาวบ้านจึงช่วยกันทำการหล่อและในวันสุดท้ายเป็นวันหล่อพระเกศในตอนเช้าได้ทำการยกเบ้าเทแล้วแต่เทไม่ติด   เมื่อเอาเบ้าเข้าเตาใหม่ทองยังไม่ละลายดี ก็พอดีเป็นเวลาจวนพระจะฉันเพล พระทั้งหมดจึงทิ้งเบ้าไว้ในเตาแล้วก็ขึ้นไปฉันเพล เมื่อฉันเพลเสร็จแล้วลงมาหมายจะเทเบ้าที่ค้างไว้กับปรากฎว่ามีผู้เทติดและสวยงามกว่าที่คิดเอาไว้เป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก สืบถามได้ความว่า มีผู้ชายคนหนึ่งนุ่งห่มขาว มายกเบ้านั้นเทจนสำเร็จแต่ด้วยเหตุที่เบ้านั้นร้อนเมื่อเทเสร็จแล้วชายผู้นั้นจึงวิ่งหนีไปทางเหนือ บ้านน้ำโมงและมีผู้เห็นชายผู้ใส่ชุดขาวยืนโลเลที่หนองน้ำแห่งหนึ่งแล้วหายไป (หนองน้ำหนองนั้นภายหลังพวกชาวบ้านเรียกกันว่าหนองโลเลมาถึงปัจจุบันนี้และชายผู้นั้นก็เข้าใจว่าเป็นเทวดามาช่วยสร้าง)

 
เมื่อได้นำพระพุทธรูปที่หล่อแล้วมาประดิษฐานไว้ที่วัดก็มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่จากเมืองเวียงจันทร์มาเที่ยวบ้านน้ำโมงสองท่านชื่อ หมื่นจันทร์ กับ หมื่นราม ทั้งสองท่านได้เห็นหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อก็เกิดศรัทธาและเลื่อมใสจึงให้การช่วยเหลือ ก่อฐานและทำราวเทียนเป็นการส่งเสริมความศรัทธาของผู้สร้าง ครั้นทั้งสองได้กลับเมืองเวียงจันทร์แล้วได้กราบทูลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งครองนครเวียงจันทน์ในเวลานั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จมาทอดพระเนตรก็ทรงเกิดศรัทธาเช่นกันจึงได้สร้างพระวิหารเพื่อประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อและแบ่งปันเขตแดนให้เป็นเขตข้าทาสของหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อดังนี้

         1.ทางตะวันออกถึงบ้านมะก้องเชียงขวา (ทางฝั่งซ้ายตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย)
         2.ทางทิศตะวันตกถึงบ้านหวากเมืองโสม (อำเภอน้ำโสมปัจจุบัน)
         3.ทางทิศใต้ถึงบ้านบ่อเอือดหรือบ่ออาด (ในท้องที่อำเภอเพ็ญปัจจุบัน)
         4.ทางทิศเหนือไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน คาดว่าน่าจะเป็นบ้านพานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่เมืองกินายโม้ ในประเทศลาว
        
ชาวบ้านที่อยู่ในเขตข้าทาสของหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อตั้งแต่เดิมมาต้องเสียส่วยอากรให้แก่ทางราชการ แต่เมื่อตกเป็นทาสของหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อแล้ว โดยผู้ใดประกอบอาชีพทางใด ให้นำสิ่งนั้นมาเสียส่วยให้แก่วัดศรีชมภูองค์ตื้อทั้งสิ้น ผู้ที่เป็นช่างเหล็กก็ต้องนำเครื่องเหล็กมาเสีย ผู้ที่ทำนาก็ต้องนำข้าวมาเสีย ผู้ที่ทำเกลือก็ต้องนำเกลือมาเสียดังนี้เป็นต้น ทางวัดก็มีพนักงานคอยเก็บรักษาและจำหน่ายประจำเสมอ (ที่หน้าพระวิหารมีหนังสือไทยน้อย หนังสือลาวอยู่ด้วย แต่เวลานี้เก่าและลบเลือนมากอ่านใจความเล็กน้อยพอมีหลักฐาน

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์คงเป็นฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้างผสมกันนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามเป็น
พระประธานองค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดหนองคาย นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร 29 เซนติเมตร สูง 4 เมตร ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือมาก สร้างในสมัยใดและใครสร้างไม่มีประวัติแน่ชัด

 
ปาฏิหาริย์ของพระเจ้าองค์ตื้อ
         มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งพวกฮ่อได้ยกทัพข้ามโขงมาขึ้นที่ฝั่งวัดน้ำโมง เพื่อหวังจะทำลายพระองค์ตื้ออันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนแถบนั้น เพื่อเป็นการทำลายขวัญของพวกชาวบ้าน ขณะที่ข้าศึกได้จ้วงขวานฟันลงไปที่พระชานุของพระองค์ตื้อนั้น ก็ปรากฏเสียงร้องออกจากพระโอษฐ์ และมีพระดลหิตไหลออกจากแผลที่พระชานะ พร้อมกับมีน้ำพระเนตรไหลซึมออกมาเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ข้าศึกเป็นอัศจรรย์เช่นนั้นก็เกรงจะเกิดภัยจึงได้รีบยกทัพกลับ แต่ก็ปรากฏว่าพวกฮ่อถึงแก่ความตายจนหมดสิ้น ทุกวันนี้แผลเป็นที่พระชานุก็ยังปรากฏอยู่
         ในสมัยก่อนผู้คนสัญจรไปมาจะสวมรองเท้าเข้าไปในวัดไม่ได้จะต้องมีอันเป็น ไปโดยประการต่าง ๆ แม้แต่เจ้านาย ที่เข้ามาถือน้ำพิพัฒนสัตยา จะสวมรองเท้าเข้าไปในวิหารนั้นก็ไม่ได้ ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษโดยประการต่าง ๆ เช่นเจ็บป่วยโดยกระทันหัน เป็นต้น
         บุคคลที่ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล มีดอกไม้ธูปเทียนหรือเครื่องสักการะอย่างอื่นมาทูลขอบุตรธิดาจากพระองค์ บุคคลผู้นั้นก็จะได้กุลบุตรธิดาสืบสกุล สมความมุ่งมาดปรารถนา แต่บุตรธิดาที่พระองค์ประทานให้แล้วนั้น บิดามารดาจะทำโทษหรือเฆี่ยนตีโดยประการใด ๆ ไม่ได้ ต้องสั่งสอนเอาโดยธรรมเท่านั้น
         บุคคลผู้ใดของหาย เช่น เงิน ทอง โค กระบือ เป็นต้น มีดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะมาบูชาบวงสรวง เพื่อให้ได้สิ่งของนั้นคืนมา ก็จะได้คืนมาสมประสงค์ทรัพย์สมบัติของใครหาย ไม่ทราบว่าผู้ใดมาลักขโมยเอไป เจ้าของทรัพย์มีความสงสัยผู้ใด ก็นำบุคคลผู้นั้นมาทำสัตย์สาบานต่อพระพักตร์ของพระเจ้าองค์ตื้อ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เอาก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าบุคคลนั้นเอาไปจริง ๆ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับตามความเป็นจริง บุคคลผู้นั้นก็จะได้รับโทษ เช่น เจ็บป่วยหรืออาจถึงแก่ความตายได้
         บุคคลผู้ใดไปศึกสงครามได้มาบนบานขอให้พระเจ้าองค์ตื้อคุ้มครอง บุคคลผู้นั้นก็จะปลอดภัยประสพแต่ความสวัสดีมีชัยกลับมา และบุคคลผู้ใดมีความปรารถนาอยากจะให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต นำเครื่องสักการะมาบูชาพระเจ้าองค์ต้อ ขออานุภาพของพระองค์ตื้อคุ้มครอง และบันดาลให้เกิดมีความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบอาชีพที่สุจริต บุคคลผู้นั้นก็จักเจริญสมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ
         อนึ่ง การเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อไปมาไม่ได้ บางคนก็ให้ญาติพี่น้องไปบูชาแผ่นทองปิดองค์หลวงพ่อใหญ่ หรือพรพุทธรูปจำลอง ตั้งจิตอธิษฐานปิดตรงที่เจ็บปวดนั้น ปรากฏว่าโรคนั้นได้หายไปดังจิตอธิษฐาน

 
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้